บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เริ่มเนื้อหอมมากยิ่งขึ้น หลังเป็นหนึ่งในบริษัทที่ร่วมกับกลุ่มซีพีในการเข้าประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกลุ่มซีพีเสนอราคาต่ำสุด แต่ยังอยู่ระหว่างต่อรอง บวกข่าวดีล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีมติต่ออายุสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 37 ปี ซึ่งตลาดมองว่ามีโอกาสสูงที่จะได้ต่อสัมปทาน แม้สหภาพแรงงาน กทพ.จะออกมาคัดค้าน
ระหว่างนี้เราไปสแกนพื้นฐานหุ้น BEM กันดีกว่า หลายคนอาจเพิ่งจะมาสนใจหุ้นตัวนี้ บริษัททำธุรกิจอะไร มีรายได้มาจากไหน หาเงินเก่งหรือไม่ กิจการมีความมั่นคงเพียงใด และภาพจริงของกิจการเป็นอย่างไร
# BEM ทำมาหากินอะไร
BEM ทำธุรกิจ 1.ให้บริการทางพิเศษ 2.ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า และ 3.ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ และผู้ถือหุ้นใหญ่คือ CK
รายได้ 60% กว่ามาจากธุรกิจทางพิเศษ (ค่าผ่านทาง) ปีที่แล้วมีปริมาณรถบนทางด่วนราว 1 ล้านเที่ยว/วัน, รองลงมาประมาณ 30% เป็นรายได้จากธุรกิจระบบราง (ค่าโดยสาร+ค่าบริหารเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน) ปีที่แล้วมีผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินราว 3 แสนเที่ยวคนวัน และที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์
# BEM ทำมาหากินเก่งหรือไม่
จากงบกำไร-ขาดทุน รายได้ต่อปีเริ่มเติบโตเป็นเลข 2 หลักในปี60 หรือโต 16.33%YoY และแนวโน้มโตต่อเนื่องในปี61 หากไตรมาสสุดท้ายทำรายได้เท่ากับในอดีตที่ 4 พันล้านบาทจะทำให้รายได้รวมปี61 ราว 1.9 หมื่นล้านบาทหรือโต 22% เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่โตต่อเนื่อง
ล่าสุด 9 เดือนแรกปี 61 มีกำไรสุทธิ 4.83 พันล้านบาทมากกว่าปี60 ทั้งปี (มีกำไรพิเศษหลายรายการ) และแม้จะหักกำไรพิเศษออกตัวเลขกำไรสุทธิก็ยังดูดีที่ 2.80 พันล้านบาท หรือโต 18.6% YoY เกือบเท่าปีก่อนทั้งปี ทั้งที่ยังเหลืออีก 1 ไตรมาสสุดท้าย
รายได้ต่อปีของ BEM (ที่มา : โปรแกรม efin StockPickUp ฟังก์ชั่น Revenue Analysis)

กำไรต่อปีของ BEM (ที่มา : โปรแกรม efin StockPickUp ฟังก์ชั่น Revenue Analysis)
# กิจการมีความแข็งแกร่งแค่ไหน
จากงบแสดงฐานะการเงิน (งบดุล) บอกว่าสินทรัพย์บริษัทเติบโตขึ้นทุกปี สะท้อนว่าบริษัทยังเดินหน้าลงทุนขยายกิจการอย่างต่อเนื่องเพื่อเติบโตในอนาคต ซึ่งล่าสุด 9 เดือนแรกปี61 ขนาดสินทรัพย์แตะ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ภายใต้สัญญาสัมปทาน
สินทรัพย์ BEM (ที่มา : โปรแกรม efin StockPickUp ฟังก์ชั่น Short Financial)
หนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี สอดคล้องกับการขยายการลงทุนในกิจการ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน และบางส่วนออกตราสารหนี้ เมื่อคิดหนี้สินรวมต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ยังรักษาไว้ไม่เกิน 2 เท่า โดยอยู่ที่ 1.92 เท่า ต่ำกว่าปีก่อนที่ 2.18 เท่า
ส่วนของผู้ถือหุ้น เพิ่มขึ้นทุกปีตามความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น โดย BEM มีกำไรสะสมล่าสุดที่ 1.28 หมื่นล้านบาท ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 3.54 หมื่นล้านบาท
หนี้สิน BEM (ที่มา : โปรแกรม efin StockPickUp ฟังก์ชั่น Short Financial)
ส่วนผู้ถือหุ้น BEM (ที่มา : โปรแกรม efin StockPickUp ฟังก์ชั่น Short Financial)
# ภาพจริงของกิจการเป็นอย่างไร
บริษัททำกำไรได้ดี แต่นั่นเป็นกำไรทางบัญชี ถ้าจะให้แน่เรามาดูกันที่งบกระแสเงินสดกันดีกว่า กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (CFO) มีค่าเป็นบวกที่ 6,213 ล้านบาท, กระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน (CFI) มีค่าเป็นลบที่ 5,264 ล้านบาท และกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงิน (CFF) มีค่าเป็นลบที่ 2,739 ล้านบาท
จาก CFO ที่เป็นบวก แสดงว่าสภาพคล่องดีมีเงินสดในมือ คือทำธุรกิจแล้วมีกำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสดจริงๆ แถมกระแสเงินสดยังสูงกว่ากำไรสุทธิทางบัญชีเสียอีก ,CFI มีค่าเป็นลบ แสดงว่า BEM ยังคงมีเงินเพียงพอที่จะนำไปขยายการลงทุนเพื่อที่จะเติบโตในอนาคต และ CFF เป็นลบแสดงว่ามีเงินพอที่จะนำไปใช้หนี้ จ่ายดอกเบี้ย และจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น
# สรุปคุณภาพบริษัทในเบื้องต้น
Ratio ด้านคุณภาพการเงินผ่าน 7 ข้อจาก 9 ข้อ ได้เกรด B+
1.สินทรัพย์ของ BEM สามารถสร้างกำไรได้ (ROA > 0)
2.สินทรัพย์ทำกำไรได้มากขึ้น (ROA Up)
3.บริษัทสามารถทำกำไรในรูปเงินสดได้ (CFO > 0)
4.บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักดอกเบี้ยได้มากกว่ากำไรสุทธิ (ACCRUAL)
5.บริษัทมีความเสี่ยงทางการเงินลดลงเพราะสัดส่วนของหนี้ที่มีดอกเบี้ยลดลง (D/E Decrease)
6.หุ้นบริษัทไม่เกิดไดลูชั่นเอฟเฟ็กต์ เพราะไม่มีการเพิ่มทุน (EQ Off)
7.นำสินทรัพย์ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ได้มากเพราะอัตราหมุนเวียนทรัพย์สินเพิ่มขึ้น (AT Up)

ที่มา : โปรแกรม efin StockPickUp ฟังก์ชั่น F-Score Analysis
Ratio ด้านคุณภาพการเติบโตผ่าน 6 ข้อจาก 7 ข้อ ได้เกรด A
1.สินทรัพย์ของบริษัทสามารถสร้างกำไรได้ (ROA > 0)
2.บริษัทสามารถทำกำไรในรูปเงินสดได้ (CFO > 0)
3.บริษัทมีสภาพคล่องที่ดี โดยสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังหักดอกเบี้ยได้มากกว่ากำไรสุทธิ (ACCURAL)
4.สินทรัพย์ของบริษัทสามารถทำกำไรได้มากกว่าบริษัทอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (ROA Sector)
5.ยอดขายเติบโตมากกว่าค่ากลาง (Sale Growth)
6.มีโอกาสเป็นหุ้นเติบโตชนะบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้เพราะสัดส่วนการลงทุนของบริษัทเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ มากกว่าค่ากลาง (CAPEX)

ที่มา : efin StockPickUp ฟังก์ชั่น G-Score Analysis